Tag Archives: เทคโนโลยีการศึกษาชุมชน

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชนและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชนและนวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นการผสมผสานทรัพยากร ภูมิปัญญา และทุนศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่น เข้ากับวิทยาการและเทคโนโลยี ทั้งในระดับท้องถิ่นและของโลก เพื่อการพัฒนาระบบปฏิบัติการและบริหารจัดการตนเองของชุมชน ให้ชุมชนและสมาชิกในชุมชน นับแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว การรวมกลุ่มแบบต่างๆ ตลอดจนกลุ่มการรวมตัวเป็นชุมชนความสนใจด้วยประเด็นที่มีร่วมกัน ให้มีความสามารถทางการปฏิบัติและเรียนรู้ เพื่อดำเนินการสิ่งต่างๆอันก่อให้เกิดสุขภาวะสาธารณะของชุมชนดังที่พึงประสงค์ แก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆของปัจเจกและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อเกิดสัมฤทธิผล ประหยัดและสมเหตุสมผล สร้างโอกาสและเพิ่มพูนศักยภาพเพื่อการบรรลุจุดหมายในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทางเลือกใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลก สอดคล้องและกลมกลืนกับเงื่อนไขความพร้อมในบริบทของชุมชนและความเป็นท้องถิ่น รวมทั้งไม่จำกัดโอกาสของคนในรุ่นอนาคต ทำให้ชุมชนเป็นหน่วยการเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลวัตร อีกทั้งสร้างเสริมความเป็นชุมชน ความเป็นประชาคม ให้มีความเข้มแข็งและจัดการตนเองได้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมภายนอกได้อยู่เสมอ เคลื่อนไหวมิติสังคมวัฒนธรรม การสื่อสาร ความรู้ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบสังคมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และสร้างความเป็นพลเมืองประชากรที่ดีให้แก่สังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะของสังคมและเพิ่มโอกาสริเริ่มความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดังที่พึงประสงค์ร่วมกันได้มากยิ่งๆขึ้น

เทคโนโลยีการศึกษาชุมชน ประกอบด้วยแนวคิด ทฤษฎี ระบบภูมิปัญญา ความรู้ ระบบหนังสือ ระบบข้อมูลและทรัพยากรความรู้เพื่อท้องถิ่น การจัดการอย่างมีส่วนร่วม การสร้างความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายการจัดการ เครือข่ายการสื่อสารและการแบ่งปันเรียนรู้ เครื่องมือ วิธีการ กลไกและอุปกรณ์เพื่อขยายขีดความสามารถทางปัญญา การเรียนรู้ และการปฏิบัติในการแก้ปัญหาและมุ่งบรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ด้วยการพึ่งศักยภาพของปัจเจกและวิถีปฏิบัติของชุมชนเป็นหลัก ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการผสมผสานภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของชุมชนเข้ากับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของประเทศและของโลกให้มีความเหมาะสม มีความสมดุลทั้งมิติความทันสมัยทางรูปแบบและวิถีปฏิบัติบนฐานความรู้พอเพียง ส่งเสริมวัฒนธรรมและระบบภูมิปัญญาของชุมชน สร้างปฏิสัมพันธ์และจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมของปัจเจกและชุมชนกับความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งเงื่อนไขความเป็นท้องถิ่นและกระแสโลกาภิวัตน์

นวัตกรรมการศึกษาชุมชน เป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ดำเนินการและปฏิบัติการอย่างเป็นระบบเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสำคัญ ๓ ประการที่บูรณาการไปด้วยกัน คือ การแก้ปัญหาที่ต้องการได้ การเป็นโอกาสก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ของปัจเจกและชุมชนให้ได้เพิ่มพูนศักยภาพในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทัดเทียมกับความจำเป็นของสังคมอยู่เสมอ และการได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นในชุมชนเพื่อปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆด้วยวิธีคิดและวิธีการใหม่ๆอันก่อให้เกิดผลดี เพิ่มพูนความแตกต่างหลากหลายให้ยืดหยุ่นพอเพียงมากขึ้นต่อการขยายตัวอันซับซ้อนของสังคมและความจำเป็นบนทางเลือกต่างๆ รวมทั้งสร้างความแตกต่างได้มากกว่าวิธีการดังที่เคยใช้และดำเนินการกันอยู่ทั่วไป ทั้งในเชิงระบบปฏิบัติ สิ่งของเครื่องใช้ ปัจจัยการดำเนินชีวิต เทคโนโลยีและวิธีบริหารจัดการทางการปฏิบัติต่างๆของชุมชน เช่น เวทีการเรียนรู้ชุมชน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ชุมชน เครือข่ายสร้างความรู้และคลังความรู้ออนไลน์ สื่อและความรู้เพื่อหลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่น เครือข่ายการท่องเที่ยวเรียนรู้เกษตรกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายถอดบทเรียนและเสริมศักยภาพการจัดการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาท้องถิ่น เครือข่ายวิจัยและปฏิบัติการสังคมท้องถิ่น หนังสือการ์ตูนท้องถิ่นพัฒนาการอ่าน เหล่านี้เป็นต้น